วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาระดับปฐมวัยสำคัญอย่างไร

การศึกษาระดับปฐมวัยสำคัญอย่างไร
 
 
โดย  กาญจนา  เกื้อเส้ง
สุนันทา  ดำแก้ว
                           “เด็กปฐมวัยทำไมต้องจัดการศึกษาให้ จำเป็นแค่ไหน นี่คือคำถามที่ผู้ใหญ่ นักวิชาการ ผู้บริหาร หรือผู้ปกครอง หลายท่านตั้งคำถาม หลายคนคิดว่า เด็กอายุแค่  3 5  ขวบ  จะเรียนรู้ จะคิดอะไรได้มากแค่ไหน แค่เลี้ยงให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ก่อนก็น่าจะพอ 




            นั่นคือความคิดของผู้ใหญ่บางคน แต่หารู้ไม่ว่าเด็กปฐมวัยเป็นวันแห่งการเรียนรู้ เป็นวัยแห่งความคิดสร้างสรรค์ ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน  ออสเตรเลีย หรืออีกหลายๆ ประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับปฐมวัยเป็นอย่างมาก เพราะเขาเชื่อว่า เด็ก คือ รากฐานของมนุษย์ อยากให้ผู้ใหญ่หรือบุคคลในสังคม มีคุณลักษณะหรือมีความสามารถอย่างไร ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ เหมือนที่เขาว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ซึ่งปัจจุบันเราชอบบ่นกันว่า ทำไหมเด็กสมัยนี้(เด็กระดับประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา)  ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพูด ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำอะไรไม่เป็น ซึ่งเราลืมมองย้อนกลับไปว่าตอนเด็กเล็กๆ เราปลูกฝังเขา หรือเราฝึกฝนเขาอย่างไร  ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งแวดล้อมและปัจจัยอีกมากมาย พัฒนาการ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตอนโตสืบเนื่องมาจาก การเลี้ยงดู การปลูกฝัง การอบรมสั่งสอน หรือการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัย
ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของเพียเจต์ (Piaget)      (อ้างในพรรณทิพย์   ศิริวรรณบุศย์,2551) กำหนดหลักของพัฒนาการไว้ 3  หัวข้อ คือ
   1.     พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามระดับวุฒิภาวะ (maturation) เป็นกระบวนการที่แน่นอน นั่นคือ
         พัฒนาการวัยหลังอาจทำนายได้จากลักษณะของวัยตอนต้น
         2.   พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามการสะสมการเรียนรู้   (learning)   ที่ได้จากประสบการณ์กับ
               สิ่งแวดล้อมและการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของเขา
         3.    พัฒนาการของเด็กเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างทฤษฎีวุฒิภาวะ (maturational theory)
                และทฤษฎีการเรียนรู้(learning theory)
                การจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจ ให้ความ สำคัญและให้การสนับสนุน แต่ยังมีหลายคน หลายโรงเรียนที่ยังเข้าใจการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยผิด เพราะการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยไม่ใช่จับเด็กมาเขียนมาอ่านอย่างจริงจังเหมือนกับเด็กประถม เด็กมัธยม เพราะนั่นคือการทำร้ายพัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก และสร้างความเครียดอย่างคาดไม่ถึง โดยผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจผิด และมีค่านิยมที่ผิดๆ ที่ต้องการให้เด็ก หรือลูก หลานของตนต้องอ่านออก เขียนได้ตั้งแต่วัยอนุบาล โดยมีการเรียนพิเศษ มีการบ้าน มีแบบฝึกหัดเป็นเล่มๆ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมของเด็กเลยว่าเด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายเป็นอย่างไร เด็กมีการใช้มือ ควบคุมกล้ามเนื้อเล็กได้ดีแล้วหรือยังที่บังคับให้เขาจับดินสอเขียนตามที่ผู้ใหญ่กำหนด ซึ่งเด็กบางคนยังหยิบจับอะไรได้ไม่ดีเลย และฝึกให้เด็กท่อง อ่าน คำศัพท์ ตัวเลข โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาท่องเขารู้ความหมายหรือเปล่า บางโรงเรียนจับให้เด็กนั่งเรียนอย่างจริงจัง หน้าติดกับสมุดแบบฝึกหัด มือจับดินสออยู่ตลอดเวลา  เด็กไม่มีโอกาสได้เล่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหรือผู้อื่น  ไม่มีโอกาสได้คิด และแสดงความคิดอย่างอิสระเลย แต่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองก็ดีใจ ภูมิใจว่าลูกของตนอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังทำลายพัฒนาการต่างๆ ของเด็ก ดังทฤษฎีของ เพียเจต์ (Piaget)  (อ้างในทิศนา   แขมมณี,2545)  ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร ทฤษฎีของ  เพียเจต์ (Piaget) ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพียเจต์ (Piaget)  เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น เพียเจต์ (Piaget) สรุปว่า พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม
          
    ทฤษฎีการเรียนรู้
             ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์   (Piaget)   มีสาระสรุปได้   ดังนี้ 
                                   
          1)  พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้
               1.1)  ขั้นรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส (Sensorimotor Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 0-2 ปี ความคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นกับการรับรู้และการกระทำ เด็กยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และยังไม่สามารถเข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่น
               1.2) ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Period)  เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 2-7 ปี ความคิดของเด็กวัยนี้ยังขึ้นอยู่กับการรับรู้เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถที่จะใช้เหตุผลอย่างลึกซึ้ง แต่สามารถเรียนรู้และใช้สัญลักษณ์ได้ การใช้ภาษา แบ่งเป็นขั้นย่อย ๆ 2 ขั้น คือ
                        2.1.1) ขั้นก่อนเกิดความคิดรวบยอด (Pre-Conceptual Intellectual Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 2-4 ปี
                       2.1.2) ขั้นการคิดด้วยความเข้าใจของตนเอง (Intuitive Thinking Period) เป็นพัฒนาการในช่วงอายุ 4-7 ปี
                1.3) ขั้นการคิดแบบรูปธรรม (Concrete Operational Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 7-11 ปี เป็นขั้นที่การคิดของเด็กไม่ขึ้นกับการรับรู้จากรูปร่างเท่านั้น เด็กสามารถสร้างภาพในใจ และสามารถคิดย้อนกลับได้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวเลขและสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น
               1.4) ขั้นการคิดแบบนามธรรม (Formal Operational Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 11-15 ปี เด็กสามารถคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ และสามารถคิดตั้งสมมติฐานและใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้
           2) ภาษาและกระบวนการคิดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่
          3) กระบวนการทางสติปัญญามีลักษณะดังนี้
             3.1) การซึมซับหรือการดูดซึม (assimilation) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสมเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
             3.2) การปรับและจัดระบบ (accommodation) คือ กระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ให้เข้ากันเป็นระบบหรือเครือข่ายทางปัญญาที่ตนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้น
             3.3) การเกิดความสมดุล (equilibration) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น หากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งจะก่อนให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล
             จากทฤษฎีของเพียเจต์ (Piaget)  ดังนั้นการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กก่อน โดยเด็กต้องได้รับการพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน เช่น  ดังนั้นเราควรสร้างค่านิยมใหม่ที่เหมาะสมเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมพัฒนาการทั้ง 4  ด้านได้กี่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญาก่อน โดยให้เด็กได้เรียนรู้ ฝึกฝนจากกิจกรรม ต่าง ๆ จากการจัดการศึกษาให้กับเด็ก  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ Constructivism(อ้างใน สุมาลี  ระหว่างบ้าน,2553) ได้เน้นการเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นด้วยตัวของนักเรียนเอง วิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสม คือ การเรียนรู้แบบค้นพบ (Discovery Learning) ประกอบการเรียนรู้จากกลุ่ม (Cooperative Learning) ซึ่งการเรียนรู้ทั้ง 2  ลักษณะ มีดังนี้
1. การเรียนการสอนแบบค้นพบ
              เป็นการเรียนการสอนลักษณะเดียวกับแบบการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method) ซึ่งมีขั้นตอนในการเรียนการสอน 5 ขั้นตอนคือ
            1)   การนำเข้าสู่บทเรียน กิจกรรม ประกอบด้วย การซักถามปัญหา ทบทวนความรู้เดิม กำหนดกิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นในการเรียนการสอนและเป้าหมายที่ต้องการ
            2)   การสำรวจ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทดลอง การสำรวจ การสืบค้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติเองโดยมีครูเป็นเพียงผู้แนะนำหรือผู้เริ่มต้น
            3)   การอธิบาย กิจกรรมประกอบด้วย การนำข้อมูล ผลการทดลองมาร่วมกันอภิปราย
            4)   การลงข้อสรุป เป็นการสรุปเนื้อหาหรือข้อมูลการทดลองเพื่อให้เห็นถึงความเข้าใจ ทักษะกระบวนการ และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสปรับแนวความคิดหลักของตนเองในกรณีที่ไม่สอดคล้องกับความคิดของตนเอง
            5)   การประเมินผล เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนตรวจสอบแนวคิดหลักที่ตนเองได้เรียนรู้มาแล้วโดยการประเมินผลด้วยตนเอง ทั้งนี้ จะรวมถึงการประเมินผลของครูต่อการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย
       2. การเรียนการสอนแบบเรียนรู้จากกลุ่ม
                  เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างทักษะของการอยู่ร่วมกันในสังกัด และทักษะในด้านเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ เป็นการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นสำคัญ โดยจัดให้นักเรียนที่มีความสามารถต่างกันเรียนและทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มๆ ละ 2-4 คน โดยมีจุดหมายเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม ผู้เรียนเก่งจะช่วยผู้เรียนอ่อนกว่า  และต้องยอมรับซึ่งกันและกันเสมอ ความสำเร็จของกลุ่มขึ้นอยู่กับสมาชิกภายในกลุ่ม  โดยบทบาทของครูผู้สอน จะเป็นดังนี้
         1)  จัดเตรียมแหล่งความรู้สำหรับนักเรียนค้นคว้า หาวัสดุอุปกรณ์ที่นักเรียนต้องใช้ร่วมกัน
         2)  จัดเตรียมแบบฝึก (Work Sheet) หรือมอบหมายงานที่ต้องทำร่วมกันในกลุ่ม
         3)  จัดกลุ่มนักเรียนโดยเฉลี่ยความรู้ ความสามารถให้แต่ละกลุ่มใกล้เคียงกัน
         4)  ครูควรปูพื้นฐานทักษะเบื้องต้นให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
         5)  วางแผนการวัดผลและประเมินผลอย่างเป็นระบบ เช่น
                     - จากการสังเกต และการสอบถามจากผู้สอน
                      - จากแบบสำรวจตนเอง
                      - จากแบบสำรวจของกลุ่ม
                      และสอดคล้องกับทฤษฎีของ  ออซุเบล (Ausubel อ้างใน สุมาลี  ระหว่างบ้าน,2553)  บ่งว่า ผู้เรียนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยการรับหรือด้วยการค้นพบ และวิธีเรียนอาจจะเป็นการเรียนด้วยความเข้าใจอย่างมความหมายหรือเป็นการเรียนรู้โดยการไม่ท่องจำโดยไม่คิด        ออซุเบล จึงแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
1.             การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย (Meaningful Reception Learning)
2.             การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำโดยไม่คิดหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง (Rote Reception Learning)
       3.    การเรียนรู้โดยการค้นพบอย่างมีความหมาย (Meaningful Discovery Learning)
       4.   การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิดหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง  (Rote Discovery Learning)  เมื่อเราจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้อย่างถูกต้องเราจะรู้ว่าเด็กปฐมวัยสามารถเกิดการเรียนรู้ได้  ซึ่งสอดคล้องกับบรูนเนอร์ (อ้างในไกวัล  จันทร์ศิลา.2553).  ได้เห็นด้วยกับ เพียเจต์ (Piaget) ว่า คนเรามีโครงสร้างสติปัญญา (Congnitive Structure) มา ตั้งแต่เกิด ในวัยทารกโครงสร้างสติปัญญายังไม่ซับซ้อน เพราะยังไม่พัฒนาต่อเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมจะทำให้โครงสร้างสติปัญญามีการขยายและซับซ้อนขึ้น หน้าที่ของโรงเรียนก็คือการช่วยเอื้อการขยายของโครงสร้างสติปัญญาของนักเรียน นอกจากนี้ บรูนเนอร์ ยังได้ให้หลักการเกี่ยวกับการสอนดังต่อไปนี้
    1.  กระบวนความคิดของเด็กแตกต่างกับผู้ใหญ่ เวลาเด็กทำผิดเกี่ยวกับความคิด ผู้ใหญ่ควรจะคิดถึงพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งเด็กแต่ละวัยมีลักษณะการคิดที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ครูหรือผู้มีความรับผิดชอบทางการศึกษาจะต้องมีความเข้าใจว่าเด็กแต่ละวัยมี การรู้คิดอย่างไร และกระบวนการรู้คิดของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ (Intellectual Empathy)
     2.  เน้นความสำคัญของผู้เรียน ถือว่าผู้เรียนสามารถจะควบคุมกิจกรรม การเรียนรู้ของตนเองได้ (Self- Regulation) และเป็นผู้ที่จะริเริ่มหรือลงมือกระทำ ฉะนั้น  ผู้มีหน้าที่สอนและอบรมมีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อการเรียนรู้โดยการค้นพบ โดยให้โอกาส ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม 
      3. ในการสอนควรจะเริ่มจากประสบการณ์ที่ผู้เรียนคุ้นเคย    หรือ ประสบการณ์ที่ใกล้ตัวไปหาประสบการณ์ที่ไกลตัว เพื่อผู้เรียนจะได้มีความเข้าใจ และแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยของเพียเจต์ (Piaget) (อ้างในทิศนา   แขมมณี,2545) ดังนี้
    หลักการจัดการศึกษา
                        1) ในการพัฒนาเด็ก ควรคำนึงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก และจัดประสบการณ์ให้เด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการนั้น ไม่ควรบังคับให้เด็กเรียนในสิ่งที่ยังไม่พร้อม หรือยากเกินพัฒนาการตามวัยของตน  เพราะจะก่อให้เกิดเจตคติที่ไม่ดีได้
                                1.1) การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามวัยของตนสามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปสู่พัฒนาการขั้นสูงขึ้นได้
                                 1.2) เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแตกต่างกัน ถึงแม้อายุจะเท่ากัน แต่ระดับพัฒนาการอาจไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ควรให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเขาไปตามระดับพัฒนาการของเขา
                                  1.3) ในการสอนควรใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจลักษณะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แม้ในพัฒนาการช่วงการคิดแบบรูปธรรม เด็กจะสามารถสร้างภาพในใจได้ แต่การสอนที่ใช้อุปกรณ์ที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้เด็กเข้าใจแจ่มชัดขึ้น
                             2) การให้ความสนใจและสังเกตเด็กอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ได้ทราบลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก
                              3) ในการสอนเด็กเล็ก ๆ เด็กจะรับรู้ส่วนรวม (Whole) ได้ดีกว่าส่วนย่อย (part) ดังนั้น ครูจึงควรสอนภาพรวมก่อนแล้วจึงแยกสอนทีละส่วน
                               4) ในการสอนสิ่งใดให้กับเด็ก ควรเริ่มจากสิ่งที่เด็กคุ้นเคยหรือมีประสบการณ์มาก่อนแล้วจึงเสนอสิ่งใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งเก่า การทำเช่นนี้จะช่วยให้กระบวนการซึมซับและจัดระบบความรู้ของเด็กเป็นไปด้วยดี
                                 5)  การเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์     และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
 มาก ๆ ช่วยให้เด็กดูดซึมข้อมูลเข้าสู่โครงสร้างทางสติปัญญาของเด็กอันเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก
           จากทฤษฎีต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่าการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างไร และจัดอย่างไร จึงจะถูกต้องเหมาะสม ที่จะทำให้เด็กปฐมวัยพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ หรือลองคิดหรือเลือกดูก็ได้ว่าอยากให้ลูกหลาน ของเราเป็นเด็กและเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ระหว่าง เด็กที่มีความสุขในการเรียนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์  มีความมั่นใจรู้จักปรับตัวเข้ากับสังคม รู้จักคิด รู้จักพูด รู้จักแก้ไขปัญหา รู้จักค้นหาคำตอบหรือมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สังคมและสติปัญญา พร้อมที่จะเรียนในระดับสูงขึ้นอย่างมีคุณภาพและศักยภาพ  กับเด็กที่ต้องถูกบังคับเรียนเขียน อ่านด้วยความทุกข์ ในสิ่งที่ยังไม่มีความพร้อม ไม่มีความคิดสร้างสรรค์เพราะไม่เคยถูกปล่อยและส่งเสริมให้คิดอย่างอิสระ ไม่รู้จักแก้ปัญหา เก็บกดที่ไม่ได้เล่นไม่ได้ทำอะไรในสิ่งที่วัยเด็กควรได้ทำ เมื่อเด็กมีโอกาสก็จะหาวิธีที่จะชดเชยในสิ่งที่ขาดหายไปโดยไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด  ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กส่วนหนึ่งมีปัญหาเหมือนเช่นปัจจุบันที่ผู้ใหญ่หลายคนกำลังหนักใจอยู่ก็เป็นได้  ยังไงฝากให้พ่อ   แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวน   เข้าใจและให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ต่อไปด้วยนะค่ะ
 
เอกสารอ้างอิง
ไกวัล  จันทร์ศิลา.(2553).จิตวิทยาการเรียนรู้.แหล่งที่มา htt///www.stats.in.th. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่  1 ตุลาคม    2553.
พรรณทิพย์    ศิริวรรณบุศย์.(2551).จิตวิทยาพัฒนาการ.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:
ทิศนา   แขมมณี. (2545). ศาสตร์การสอน. กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุมาลี   ระหว่างบ้าน.(2553).แหล่งที่มา htt///www.tupadu.multiply.com. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่  20  กันยายน   2553


4 ความคิดเห็น:

  1. เยี่อมมากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ดีมากเลยคะ

    ตอบลบ
  3. ด.ญ.กฤษณา สาทเวช5 มีนาคม 2556 เวลา 13:07

    สำคัญค่ะ เพราะจะเตรียมความพร้อมให้ก่อนขึ้นป.1ค่ะ

    ตอบลบ
  4. ด.ญ.กฤษณา สาทเวช5 มีนาคม 2556 เวลา 13:10

    สำคัญค่ะ เพราะจะเตรียมความพร้อมให้ก่อนขึ้นป.1ค่ะ

    ตอบลบ

ข่าวการศึกษา